งานจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 11-12 พ.ค. 2562 โดยอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ของการจัด"งานบุญบั้งไฟ" ตำบลถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ทุกๆปีจะจัดเป็นงานใหญ่ของถิ่นมีหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมในงานจำนวนมาก ชุมชนแต่ละชุมชนได้นำบั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคบ้างก็ทำเป็นรูปอื่นๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะ นำมาเดินแห่ตามประเพณีมาสิ้นสุด ณ สนามโรงเรียนบ้านถาวร
ทั้งนี้ ในขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนมเหศักดิ์หลักเมือง ที่เป็นขบวนของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวถาวรตามความเชื่อโบราณในการจุดบั้งไฟเพื่อขอฝน และให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีขบวนบั้งไฟสวยงาม และบั้งไฟโบราณ ขบวนรำเซิ้งที่สนุกสนานสวยงาม ซึ่งชาวบ้านจัดทำขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟที่มีมายาวนาน ให้คงไว้ นอกจากงานภาคกลางวันแล้วส่วนภาคกลางคืนก็ยังมีหมอลำ"หนึ่งนครวัฒนศิลป์" และความสนุกสนานอื่นๆประเพณีบุญบั้งไฟ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญ ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชม และถือเป็นตำนานของชาวอีสาน เป็นพิธีกรรมขอฝน เป็นประเพณีสำคัญของภาคอีสานบ้านเราที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสานที่ทำกันในเดือน 6 ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูทำนา จะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า พญาแถน เป็นการขอให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลและทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ อีกความเชื่อของประเพณีบุญบั้งไฟ ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องพญาคันคากและเรื่องผาแดงนางไอ่ มีการกล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน โดยเฉพาะในเรื่องพญาคันคาก ซึ่งตำนานนั้นมีอยู่ว่า พญาคันคากเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยชาติเป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่ได้ชื่อว่า “พญาคันคาก” เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า คันคาก และถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือ จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน จนลืมที่จะเซ่นบูชาพระยาแถน พระยาแถนจึงโกรธ ไม่ยอมปล่อยน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ ศึกการต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนจึงเกิดขึ้น โดยพญาคันคากได้นำทัพสัตว์ต่างๆ ขึ้นไปรบ จนได้รับชัยชนะ พญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกลงมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นที่มาว่าเมื่อถึงเดือนหกอันเป็นต้นเดือนฤดูฝน ชาวอีสานจึงทำบั้งไฟจุดขึ้นบนฟ้าถวายพญาแถน เพื่อฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาลนั่นเอง
ขอบคุณ thaworn.go.th/
ประเพณีบุญบั้งไฟ