จากสถิติที่จดทะเบียน"บุรีรัมย์" ยื่นจดแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อการแพทย์ มากที่สุดกว่า 5,000 คน เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แม้ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาในการยื่นจดทะเบียนครอบครองในวันที่ 21 พ.ค. 2562 จากความตั้งใจความร่วมมือของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง คนในจังหวัดบุรีรัมย์เอง ที่ได้เล็งเห็นประโยชน์สูงสุดของกัญขาในทางการแพทย์ เข้าใจ เข้าถึง ทางการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ร่วมส่งเสริม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการรักษา รวมถึงบุคคลที่สนใจ
โดยบุรีรัมย์ จัดงานแสดงความรู้ รวมถึวจัดงานเสวนาแนวทางการปลูกและการจัดการกัญชาสำหรับประโยชน์ทางการแพทย์ แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยส่วนใหญ่มาจากที่จัดงานกัญชาครั้งแรกของไทยในเดือนเมษายน2562 มีคนมาร่วมหลักแสน ทำให้กระตุ้นความรู้และความจำเป็นของการครอบครองเพื่อการแพทย์ เผยยอดลงทะเบียนจดแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อการแพทย์ที่บุรีรัมย์ มากที่สุดกว่า 5,000 คน ถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
ยังได้มีการจัดแบบต่อเนื่อง โดยนายนฤชา โฆษาศิวิไลย์ ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาทางการปลูกกัญชาและการจัดการกัญชาสำหรับประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ จัดขึ้น โดยมีสาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เกษตรอำเภอ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 250 คน ร่วมประชุมเสวนา ที่ห้องประชุม ชั้น 2 สนามช้างอารีน่า ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำความรู้ที่ได้รับได้ต่อยอดและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งมีวิทยากรจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และคณาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว มีการใช้เป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางกระการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ในหลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคและเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)บุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมาตรฐานในการปลูกกัญชา ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตปลูกกัญชา การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น จึงได้จัดประชุมเสวนาแนวทางการปลุกกัญชาสำหรับประโยชน์ทางการแพทย์
โดยกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 23 อำเภอ 60 แห่ง จากทั้งจังหวัดกว่า 3,000 แห่ง ที่มีความพร้อมสนใจในการปลูกเพื่อผลิตกัญชาทางการแพทย์ มาทราบถึงเกณฑ์การปลูก การผลิต ทั้งระบบตั้งแต่เมล็ดจนกระทั่งถึงน้ำมันกัญชา ซึ่งแต่ละขั้นขั้นตอนจะมีมาตรฐาน เงื่อนไข เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนทราบเกณฑ์มาตรฐานและเงื่อนไขต่างๆไปประเมินถึงความพร้อมในการที่จะร่วมผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์
จากนั้น ก็จะมีการประเมินวิสาหกิจชุมชนที่สมัครแล้วมีความพร้อมในการปลูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในการพิจารณาว่า จังหวัดบุรีรัมย์ มีความพร้อมเป็นผู้ผลิตกัญชาทางการแพทย์ต่อไป
สำหรับการลงทะเบียนเพื่อจดแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อการแพทย์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 พ.ค.62 ซึ่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน มีผู้มายื่นลงทะเบียนเพื่อจดแจ้งครอบครองกัญชาฯ แล้วจำนวนกว่า 5,000 คน ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรง ที่เหลือก็เป็นโรคที่มีความหลากหลาย เพราะกัญชาใช้ทางการแพทย์ได้หลากหลาย ผู้ที่ขอจดแจ้งส่วนหนึ่งจะมาจากต่างจังหวัด แต่ส่วนใหญ่เป็นคนบุรีรัมย์